ทีโอที-เอไอเอส จ่อเปิดดีล 4 จี
ทีโอที-เอไอเอส เปิดเจรจาร่วมเป็นพันธมิตร 3 จี เฟส 2 บนสถานีฐานกว่า 15,000 แห่ง อัพสปีดสูงสุด 100 เมกะบิต บนเทคโนโลยี 4 จี-แอลทีอี
นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแสดงความจำนงขอคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2,300 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทีโอทีถือครองอยู่จำนวน 64 เมกะเฮิรตซ์ โดยยินดีคืนให้จำนวน 34 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ กสทช. นำไปจัดสรรใหม่ออกใบอนุญาต 4 จี หรือแอลทีอี ซึ่งทีโอทีขอเก็บคลื่นไว้ทำตลาดเองจำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ ความเร็วสูงสุด 100 เมกะบิตต่อวินาที
ส่วนคลื่น 30 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทีโอทีเก็บไว้ทำตลาดนั้น ทีโอทีจะนำไปให้บริการ 3 จี เฟส 2 ซึ่งจะเริ่มเดือน มิ.ย.นี้ จำนวนสถานีฐานทั้งสิ้น 15,000 แห่ง ซึ่งทีโอทีจะให้บริการทั้งย่าน 2,100 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับ 3 จี และในพื้นที่ที่ต้องการใช้งานดาต้า รับ-ส่งข้อมูลจำนวนมากจะให้บริการ 4 จี จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ดังกล่าว
สำหรับแผนการลงทุนนั้น ได้มอบให้คณะกรรมการที่ดูแลโครงการ 3 จี จัดทำเอกสารรายละเอียดงบลงทุนไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อสรุปที่แน่นอน ทีโอทีต้องหาพันธมิตรผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือเอกชนมาร่วมลงทุน และรับช่วงในย่านความถี่ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะเปิดบริการบนเทคโนโลยี 4 จีไปทำตลาดต่อ ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้การลงทุนเกิดความซ้ำซ้อน และปัจจุบันมี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ร่วมเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการทดสอบ 4 จี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้งานด้านข้อมูลของผู้บริโภคมีจำนวนมากขึ้น
"ปัจจุบันเราถือคลื่นย่าน 2,300 ในช่วงความถี่ 2304 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น เราจะขอ กสทช. ขยับย่านไปที่ 2,300 และจะให้สิทธิไปจนถึง 2,330 ส่วนอีก 34 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือจะคืนให้ กสทช. นำไปจัดสรรใหม่ โดยการออกแบบคลื่นความถี่ลักษณะนี้ ทีโอทีจะเตรียมหารือกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั้งเอไอเอส หรือเอกชนรายใดที่สนใจ เพราะโครงข่ายนี้ทีโอทีต้องการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแชร์ใช้ร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนของประเทศ โดยทีโอทีจะพยายามขอความเมตตาจาก กสทช. เพื่อให้ได้สิทธิใช้คลื่นนี้เป็นเวลา 15 ปี" นายพันธ์เทพกล่าว
นอกจากนี้ ทีโอทีอยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยังคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจะประชุมลงมติเรื่องแผนแม่บททั้ง 3 หลักในวันที่ 21 มี.ค.นี้ โดยระบุว่าทีโอทีไม่เห็นด้วยหาก กสทช.จะปรับลดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมลงให้เหลือน้อยกว่า 15 ปี เพราะตามกรอบที่คณะกรรมการ กสทช. เคยอนุมัติว่า กรอบเวลาการคืนคลื่นวิทยุกระจายเสียง 5 ปี กิจการโทรทัศน์ 10 ปี และกิจการโทรคมนาคม 15 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว หากปรับลดเหลือ 7-10 ปี จะกระทบต่อแผนการลงทุนขยายโครงข่ายของเอกชนทันที
ส่วนการประชุมคณะกรรมการทีโอที วานนี้ (19 มี.ค.) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ 3 จี เฟส 1 โดยฝ่ายบริหาร ระบุว่า การเปิดใช้งานสถานีฐาน 3 จี ทีโอทีระยะแรกจำนวน 5,320 สถานีฐาน ที่ตั้งเป้าจะติดตั้งและเปิดใช้ให้ครบภายในเดือน พ.ค. นี้ จะมีประมาณ 400 สถานีฐานที่ติดตั้งไม่เสร็จตามกำหนด เพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยังอยู่ในกรอบที่มติคณะรัฐมนตรีขยายเวลาให้ภายใน 6 เดือน
แหล่งข่าวจากทีโอที กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ นายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการเอไอเอส ได้เข้าพบประธานกรรมการทีโอที เพื่อหารือถึงการเป็นพันธมิตร และอนุญาตให้เอไอเอสได้รับสิทธิทำตลาด 3 จีในเฟส 2 ซึ่งจะรวมการให้บริการ 4 จี ด้วย
"เบื้องต้นรายละเอียดของสัญญาจะคล้ายกับการทำสัญญาโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอในย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่ง บมจ. กสท โทรคมนาคม ทำร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เมื่อต้นปี 2554 ซึ่งมีอายุสัญญา 14 ปี 6 เดือน" แหล่งข่าวกล่าว
อ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น