การดูแลและรักษาโรคไตวาย...กับบริบทของคนไทย - เด็กสาสุข ออนไลน์
Headlines News :
Home » » การดูแลและรักษาโรคไตวาย...กับบริบทของคนไทย

การดูแลและรักษาโรคไตวาย...กับบริบทของคนไทย

Written By เด็กสาสุข on วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555 | 20:26


 



              ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี สมาคมโรคไตนานาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตราย และร่วมหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง โดยในปี 2555 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม จะมุ่งรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Donate Kidneys for Life Receive” ให้มีการส่งเสริมการบริจาคไตให้มากขึ้น เพื่อให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งการปลูกถ่ายไตนับเป็นการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด ช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้นและสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ในประเทศไทยเรายังมีข้อจำกัดเรื่องผู้บริจาคไต ในแต่ละปีมีผู้บริจาคอวัยวะเพียงปีละไม่ถึง 200 รายเท่านั้น ทำให้มีผู้ป่วยรอรับบริจาคไตอีกเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตระหว่างการรอรับอวัยวะบริจาคไตอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้น ระหว่างรอรับบริจาคไต ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ควรได้รับการดูแลบำบัดทดแทนไตอย่างเหมาะสม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีชีวิตที่ยืนยาว ไม่เป็นภาระกับครอบครัวและคนรอบข้าง
ควรบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีไหน?
               ข้อมูลจาก รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย หัวหน้าโครงการ PD Service and Training Center ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่าสำหรับการบำบัดทดแทนไตมี 3 วิธี คือ
                1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis หรือ HD)
                2. การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis หรือ PD) 
                3. การปลูกถ่ายไตใหม่ (Kidney transplantation หรือ KT)
              ซึ่งแต่ละวิธีจะมีผลดีผลเสียแตกต่างกัน ถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาโรคประจำตัวอะไรเลย สามารถรักษาได้ทั้ง 3 วิธี ส่วนผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือในผู้สูงอายุ การล้างไตทางช่องท้องจะเหมาะสมกว่าการฟอกเลือด เพราะการฟอกเลือดจะต้องมีการต่อสายเข้ากับเส้นเลือด ซึ่งในผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของหลอดเลือด และผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวานนั้น จะหาเส้นเลือดได้ค่อนข้างยาก ส่วนข้อจำกัดของการล้างไตทางช่องท้องคือ ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดแล้วเกิดพังผืดในหน้าท้องอย่างมาก หรือผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัดลำไส้ทะลุ จะไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ สำหรับการปลูกถ่ายไตนั้น เหมาะสำหรับคนที่มีอายุไม่มากนักเพราะต้องมีไตที่บริจาคให้โดยญาติพี่น้องที่เป็นสายตรง ถึงจะสามารถรับการรักษาได้ ล้างไตทางช่องท้อง vs ฟอกเลือด
                ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่นั้น ผู้ป่วยต้องบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง ทั้งสองวิธีไม่ทำให้หายจากโรคไตวาย แต่เป็นการทำงานแทนไต คือ ล้างเอาน้ำและของเสียออกจากร่างกาย เมื่อหยุดล้างไต ของเสียในเลือดก็จะสะสมขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จึงต้องล้างไตเป็นประจำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและให้มีชีวิตอยู่ได้เช่นคนทั่วไป ซึ่งการล้างไตทางช่องท้อง (PD) นั้น ภาครัฐได้กำหนดให้เป็นนโยบาย “PD first policy” ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 โดยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะได้รับบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก และเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน ซึ่งพบว่าภายหลังมีนโยบายนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น 
                 ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเสวนา “4 ปีกับทิศทางและนโยบายการล้างไตทางช่องท้อง เพื่อชีวิตอิสระผู้ป่วยไตวายในระยะสุดท้าย” ณ  ม.ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่าปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการฟอกเลือดและมีความเชื่อว่าการฟอกเลือด (HD) ดีกว่าการล้างไตทางช่องท้อง (PD) และเจ้าหน้าที่บางท่านก็ยังมีความนิยมที่จะทำ HD มากกว่า PD อยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลทางด้านทางการแพทย์จะให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน แต่การทำ PD จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสะดวกมากกว่า และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่ส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบท เพราะวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน ทำให้ประหยัดค่าเดินทางและค่ารักษาทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และบางคนสามารถทำงานได้เป็นปกติสามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้ง PD ยังเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันที่ขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์
                นอกจากนี้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ การล้างไตทางช่องท้องก็จะมีความคล่องตัวมากกว่า เพราะการฟอกเลือดต้องอาศัยบุคลากรการแพทย์และเครื่องไตเทียมและต้องมีไฟฟ้าเป็นหลักในการที่จะให้เครื่องนั้นทำงานได้ แต่การล้างไตทางช่องท้อง แม้จะไม่มีไฟฟ้า ยังมีพยาบาลที่สามารถทำงานได้ และมีน้ำยาอยู่ผู้ป่วยก็สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้จะอยู่ในสภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งในช่วงมหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า HD มีอุปสรรคมากกว่า บางคนต้องขึ้นรถเมล์ นั่งเรือไปโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาลปิด แต่ผู้ป่วยโรคไตที่ทำ PD หากมีน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยก็จะสามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง

ดร.อภิสิทธิ์  ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ.

คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: 'การดูแลและรักษาโรคไตวาย...กับบริบทของคนไทย' 
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555 
Share this article :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. เด็กสาสุข ออนไลน์ - All Rights Reserved
Template Modify by Creating Website
Proudly powered by Blogger