ไข้หวัด(common cold) - เด็กสาสุข ออนไลน์
Headlines News :
Home » » ไข้หวัด(common cold)

ไข้หวัด(common cold)

Written By เด็กสาสุข on วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 | 00:29

ไข้หวัด (common cold)
          ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ บางคนบางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ อาจเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียนและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมากๆ
          ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆมากขึ้นก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลงไป โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันมากๆ เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงส่วนในฤดูร้อนจะพบน้อยลง



สาเหตุ
           เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (virus) มีอยู่ร่วม200 ชนิดจากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มไวรัสที่สำคัญได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100ชนิด นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มไวรัสโคโรนา (coronavirus) กลุ่มไวรัสอะดีโน (adenovirus)กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV)กล่มไวรัสพาราอิฟลูเอนซ่า (parainfuenza virus) กลุ่มไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ainfuenza virus)กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) กลุ่มเชื้อเริม (herpes simplex virus)เป็นต้น การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยในครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
          เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นการแพร่กระจายทางละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่ (droplet transmission)
          นอกจากนี้เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส ซึ่งเชื้อหวัดอาจติดอยู่ที่มือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หลังสือ โทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด แล้วใช้มือ อวัยวะ หรือสิ่งของที่แปดเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายขอคนๆนั้น จนกลายเป็นหวัดได้ ระยะฟักตัวตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้นใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน

อาการ
          มีไข้เป็นพักๆครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อยเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บ บริเวณลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ ในผู้ไหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ส่วนในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชักได้ ในทารกอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเดินร่วมด้วย ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว อาจพบคอแดงเล็กน้อย หรือพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง

ภาวะแทรกซ้อน
          ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียวถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง บางรายอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางรายอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหู โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกินในผู้ป่วยที่ไม่ไดพักผ่อนตรากตรำทำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ หรือในกลุ่มเด็กทารกหรือในผู้สูงอายุ

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคหวัด
          หลายคนมีความเชื่อว่า หากออกจากบ้านในขณะที่ผมเปียก ศีรษะเย็น จะเสี่ยงต่อการเป็นหวัด ทว่าความจริงแล้วผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ Rachel Vreeman คุณหมอด้านกุมารเวชศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Indiana เปิดเผยว่า ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ว่าผมคุณจะเปียก หรือไม่เปียก คุณก็สามารถเป็นไข้หวัดได้ หากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปได้มีการทำการศึกษาวิจัยกับกลุ่มคน 2 กลุ่ม โดยฉีดเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปในจมูกของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากนั้นให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสภาพอากาศที่เปียกและเย็น อีกกลุ่มอยู่ในสภาพอากาศปกติ ซึ่งผลวิจัยพบว่า คนทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีแนวโน้มในการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันเลย ดังนั้นการเป็นหวัดจึงมาจากเชื้อไวรัสมากกว่าสภาพอากาศ
            บางคนมีความเข้าใจผิดว่าต้องกินอาหารที่ดี และมีประโยชน์ให้มากกว่าปกติในความเป็นจริงแล้วไม่ถึงกับเป็นความเชื่อที่ผิด แต่คุณหมอ Vreeman ระบุว่า คนส่วนใหญ่มักปล่อยเลยตามเลย พอป่วยรู้สึกเบื่ออาหารก็จะไม่กิน หรือกินน้อยลง เพราะแท้จริงแล้วเมื่อเป็นหวัด ร่างกายจะต้องการพลังงานจากอาหารมากกว่าปกติ เพื่อนำไปต่อสู้กับเชื้อไข้หวัด ดังนั้นหากมีไข้ เป็นหวัด ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพยายามดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายจะได้ไม่แย่ไปกว่าเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องหาอาหารชั้นดีชั้นเลิศแต่อย่างใด
          บางคนมีความเชื่อว่าเมื่อเป็นหวัด ไม่ควรดื่มนมวัว เพราะจะทำให้มีน้ำมูกเยอะคนส่วนใหญ่รวมถึงกุมารเวชศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว จะเพิ่มการผลิตเมือก ซึ่งนั่นหมายถึงจะทำให้มีน้ำมูกมากขึ้นแต่จากผลการศึกษาด้วยวิธีการให้คนกลุ่มหนึ่งดื่นนมวัว อีกกลุ่มให้ดื่นนมถั่วเหลือง ผลก็ยังปรากฏว่า ปริมาณน้ำมูกของคนทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันเลย
         คนส่วนใหญ่มักเอาฝ่ามื่อหรือหลังมือแตะบริเวณหน้าผากเพื่อสังเกตอาการไข้แต่ในความเป็นจริงแล้วการรับรู้อุณหภูมิด้วยวิธีนี้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้มากอันเนื่องจากสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และใช้งานมือของแต่ละบุคคล ซึ่งในความเป็นจริงเราสามารถสังเกตุอาการผ่านทางใบหน้าได้ดีกว่าการเอามือแตะหน้าผากเสียอีก
         การใช้มือปิดปากเมื่อจามข้อเท็จจริงไม่ควรทำเพราะจะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้มากขึ้นเรื่องนี้หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เลยต้องเตือนกันอีกทีว่า แม้การใช้มือปิดปากระหว่างไอหรือจามจะดูสุภาพ แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เชื้อโรคแพร่ไปยังผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราไอหรือจามใส่มือ เชื้อโรคที่ติดอยู่ในมือจะสามารถแพร่ไปติดใครต่อใครได้ง่าย ผ่านจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ปุ่มกดลิฟท์ หรือแม้แต่ลูกบิดประตู ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อคือ เมื่อเป็นไข้หวัดควรล้างมือบ่อยๆ ใช้กระดาษทิชชูแทนผ้าเช็ดหน้า จะได้ใช้แล้วทิ้งไปเลย แต่หากไม่มีทิชชู เมื่อไอหรือจามควรใช้วิธีจามใส่ข้อศอกด้านในของตัวเอง เพราะเป็นจุดที่แพร่เชื้อโรคได้น้อยกว่ามือ

การรักษา
          เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไว้รัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่
          1. แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้
               - พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังมากเกินไป
               - สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าให้ถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
               - ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำ ที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
               - ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
               - ใช้ผ้าชุน้ำ (ควรใช้น้ำอ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง

         2. ข้อแนะนำเหล่านี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้
              2.1 สำหรับผู้ใหญ่ และ เด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี )
                     - ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล
                     - ถ้ามีอาการคัดจมูกหรือจาม ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
                     - ถ้ามีอาการไอ ให้ยาแก้ไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม
              2.2 สำหรับเด็กเล็ก(อายุต่ำกว่า 5 ปี )
                     - ถ้ามีไข้ให้ใช้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อม เบบี้แอสไพริน
                     - ถ้ามีอาการคัดจมูกหรือจาม ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟริรามีนชนิดน้ำเชื่อม
                     - ถ้ามีน้ำมูกคัดจมูกมาก หายใจไม่สะดวกให้ใช้ลูกยางดูดเอาน้ำมูกออกบ่อย ๆ
                     - ถ้า มีอาการไอร่วมด้วยให้ยานำเชื่อมชนิดที่มียาแก้แพ้ผสมกับยาขับเสมหะ อยู่ในขวดเดียวกัน เช่น ยาขับเสมหะ คลอริเอต, ยาขับเสมหะไพริทอน ไม่ต้องให้ยาแก้แพ้แยกต่างหาก 
                     - ถ้าเด็กเคยชักหรือมีไข้สูงร้องกวนไม่ยอมนอน ให้ยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล     
           3. ยาปฏิชีวนะไม่ จำเป็ฯต้องให้เพราะว่าไม่ได้เจอผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อหวัดซึ่ง เป็นไวรัส(อาการที่สังเกตุได้คือมีน้ำมูกใส ๆ ) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือขียว คอแดงจัด หรือปวดหู ยาปฏิชีวนะ ให้เลือกใช้เพนวี แอมพิซิลลิน ในรายที่แพ้เพนิ่ซิลลิน ใหใช้อีริโทรมัยซิ่น แทน ควรให้นาน 7-10 วัน
          4. ถ้าไอมีเสลดเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และ ยาแก้ไอ ควรให้กินยาขับเสมหะ เช่น มิสต์สกิล แอมมอน และให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น
          5. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้มากกว่าปกติ(เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ขวบหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที) หรือมีไข้สูงนานเกิน 7 วันควรแนะนำไปโรงพยาบาล โดยเร็ว อาจจะต้องเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
          6. ในเด็กถ้ามีอาการชักร่วมด้วยให้ถอดเสื้อผ้าเด็กออกแล้วใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกโปะทั่วตัว เปลี่ยนผ้าชุบน้ำใหม่ทุกๆ 2 นาที ถ้าไม่หยุดชักหรือมีอาการอาเจียนมาก ควรนำส่งโรงพยาบาลด่วน
          7. ถ้าสงสัยเป็นไข้หวัดนก เช่น มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก
ข้อแนะนำ 
          1. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันถ้าเป็นเกิน 4 วันมักแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่นๆ
           ผู้ป่วยบางรายถึงแม้ว่าจะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกไหลและไอต่อไปได้ บางรายอาจไอมากและนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อยุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่นฝุ่น ควัน) มักเป็นลักษณะไอแห้งๆหรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้นให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
           2. ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น
           3. ผู้ที่เป็นไข้หวัด (ซึ่งมีอาการตัวร้อนร่วมด้วย) เรื้อรังเป็นเป็นๆหายๆประจำอาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยเช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคขาดอาหาร เป็นต้น จึงควรตรวจดูว่ามีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล
           4. เด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเข้าโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดได้บ่อย เพราะติดเชื้อหวัดหลากชนิดจากเด็กคนอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรื่อยๆ ควรตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วนถ้าไม่พบมีความผิดปกติ และเด็กมีพัฒนาการดี ควรมียาลดไข้ไว้ประจำบ้านเพื่อให้เด็กกินเวลาตัวร้อน ส่วนยาอื่นๆไม่จำเป็นต้องให้ อย่ากินยาปฏิชีวนะ (หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่ายาแก้อักเสบ) โดยไม่จำเป็น ควรสงวนไว้ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้จริงๆ เท่านั้น (การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่ออาจก่อโทษต่อร่างกาย เช่น ทำให้ดื้อยา ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น) ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน หมั่นชั่งน้ำหนักตัว พอพ้น 3-4 เดือน อาการก็จะห่างไปเอง เนื่องจากร่างกายเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่ิเชื้อหวัดมากชนิดขึ้นแล้ว
          5. ผู้ที่เป็นหวัดและจามบ่อยๆ โดยไม่มีไข้ มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร มากกว่าที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
          6. ผู้ที่มีอาการไข้และมีน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยทุเลา มักไม่ใช่เป็นไข้หวัดธรรมดาแต่มีสาเหตุอื่นเช่น หัด ปอดอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ควรตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่าละเอียด
              นอกจากนี้ยังมีโรดติดเชื้ออื่นๆได้หลายชนิดที่่ระยะแรกแสดงอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้เลือดออก ไอกรน คอตีบ โปลิโอ ไทฟอยด์ สมองอักเสบ เป็นต้น จึงควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าพบมีไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
          7. อย่าซื้อหรือจ่ายยาชุดแก้หวัดที่มีคลอแรมเฟนิคอล เตตราไซคลิน หรือเพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ด้วย นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจมีอันตรายได้
          8. เมื่อเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าหูและโพรงไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้
          9. สำหรับเด็กเล็ก อย่าซื้อยาแก้หวัดแก้ไอสูตรผสมกินเองเพราะอาจมียาเกินความจำเป็นจนอาจเกิดพิษได้ แม้แต่ยาแก้แพ้ แก้หวัด นอกจากไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กได้ ในการรักษาเบื้องต้นควรให้ยาลดไข้เพียงอย่างเดียวจะปลอดภัยกว่ามาก
การป้องกัน
           1. หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่อากาศเย็น
           2. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ควรปฏิบัติดังนี้
               - ในช่วงที่มีการระบาดควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่นสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า งานมหรสพ เป็นต้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่เพื่อชะล้างเชื้อโรคที่ติดมาจากการสัมผัสเชื้อ และอย่าใช้มือ ขยี้ตา หรือ แคะจมูก
              - อย่าเข้าใกล้หรือนอนร่วมกับผู้ป่วยถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหม่ั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
              - อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วยและควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
              - ควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น อย่านอนปะปนหรือนอนคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่่น เวลาไอจามก็ควรใช้ผ้าปิดปากจมูก เวลาที่เข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนอยู่กันมากๆควรสวมหน้ากากอนามัย


คำถามที่พบบ่อย

เมื่อไรจะหาย
           โดยทั่วไปจะเป็นมาก 2-4 วัน หลังจากนั้นจะดีขึ้น โรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือหูชั้นกลางอักเสบ ต้องได้รับยาปฏิชีวนะรักษา จะป้องกันการติดเชื้อหวัดได้อย่างไร เป็นการยากที่จะป้องกันการติดเชื้อหวัด และยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันไข้หวัด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
วิตามิน ซี รักษาหวัดได้หรือไม่
        หลายท่านเชื่อว่าการได้รับวิตามินซี ขนาดสูงสามารถรักษาและป้องกันไข้หวัดได้ จากการศึกษายังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ารักษาได้จริง หรือทำให้โรคหายเร็วขึ้น นอกจากนั้นการได้รับวิตามิน ซีขนาดสูงยังทำให้เกิดท้องร่วง และมีผลต่อการตรวจน้ำตาลในเลือด รวมทั้งการแข็งตัวของเลือด




อ้างอิง
          สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2 :350 โรคกับการดูแล
                            รักษาและป้องกัน.พิมพ์ครั้งที่ 4: โลจิสติก พับลิสซิ่ง,2551
          http://www.bknowledge.org/index.php/object/page/access/health/files/22.html
          http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/common_cold.htm
          http://thaihow.tripod.com/hea125.htm#อาการไข้หวัด



Share this article :

5 ความคิดเห็น:

เด็กสาสุข กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

เด็กสาสุข กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ทำรายงายแล้ว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เว็บนี้เว็บเดียวได้ข้อมูลครบเลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ครบเลย

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. เด็กสาสุข ออนไลน์ - All Rights Reserved
Template Modify by Creating Website
Proudly powered by Blogger